เมื่อพูดถึง “อัญมณี” หลายคนนึกถึงความสวยงามอันเกิดจากธรรมชาติที่สรรค์สร้าง และเมื่อนำมาเจียระไนเป็นเครื่องประดับก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้ราคาสูงลิบลิ่ว แต่สำหรับบางคนอัญมณีกลับมีความหมายและมีคุณค่ามากกว่านั้น จึงนิยมนำมามอบให้เป็นของขวัญแก่กันเพื่อเป็นตัวแทนแห่งความทรงจำของผู้ให้และผู้รับ
"แสตมป์ชุดสื่อแห่งความรัก 2567" วันแรกจำหน่าย 7 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับภาพต้นแบบของแสตมป์ “สื่อแห่งความรัก 2567” ได้รับพระกรุณาธิคุณให้นำภาพเครื่องประดับ“Rosa Bhubing Love at First Sight Gradient Brooch”จากแบรนด์ SIRIVANNAVARI หนึ่งในผลงานทรงออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จากคอลเลกชัน “Heirlooms of Elegance” ผนวกกับผลงานหัตถศิลป์ด้านอัญมณี โดยช่างฝีมือชั้นครูจาก Beauty Gems สร้างสรรค์จากไพลิน (Blue Sapphire) ที่ผ่านการเจียระไนเป็นรูปทรงต่างๆ อย่างวิจิตรบรรจง ไล่เฉดสีอย่างพิถีพิถัน บริเวณฐานและใบของดอกเนรมิตจากเพชรและมรกตสร้างมิติที่งดงามเสมือนจริง โดยใช้เทคนิคการฝังไร้หนาม (Invisible Setting)
เบื้องหลังแรงบันดาลใจของการออกแบบที่ทรงถ่ายทอดสายใยแห่งรัก ผ่านภาพดอกกุหลาบควีนสิริกิติ์สีน้ำเงิน ดอกไม้ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงโปรด จากครั้งหนึ่งในอดีตที่เสด็จไปทรงงาน ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พสกนิกรได้นำดอกกุหลาบควีนสิริกิติ์ ดอกไม้พระนามซึ่งเป็นดอกกุหลาบสีเหลือง ปลายกลีบสีส้มอ่อน มาย้อมสีน้ำเงินสดทูลเกล้าฯ ถวาย
และเมื่อนำมาจัดทำเป็นแสตมป์แล้ว ยังได้ใช้เทคนิคการพิมพ์ที่สร้างมิติ และความสวยงาม เพิ่มประกายระยิบระยับใกล้เคียงอัญมณีจริง โดยใช้ซิลค์สกรีนหมึกพิมพ์หลากสี พร้อมเคลือบกลิตเตอร์ วางบนมินิชีตขนาดเล็กแบบหนึ่งดวงต่อแผ่น ทำให้แสตมป์ชุดนี้โดดเด่นและเลอค่า
“แสตมป์ที่ระลึก 60 ปี ราชาภิเษกสมรส” ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2553
หากจะนึกย้อนไปถึงแสตมป์ไทยอีกหนึ่งชุดที่ทรงคุณค่า และสร้างปรากฏการณ์เป็นครั้งแรกของไทยในการนำ อัญมณีมาผนึกบนแสตมป์ นั่นคือชุด “60 ปี ราชาภิเษกสมรส” ที่ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2553 ประดับด้วยคริสตัลสวารอฟสกี้มากถึง 12 เม็ด บนแสตมป์ที่ปรุเป็นรูปหัวใจ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2493 คู่กับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ทั้งสองพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคู่พระบารมี ที่ทรงอยู่เคียงข้างพสกนิกรชาวไทยมายาวนานถึง 60 ปี จัดทำเพียง 60,000 ชุดเท่านั้น
แสตมป์ชุด The Queen’s Jubilees Precious Metal Prestige Cover ประเทศออสเตรเลีย, 2565
สำหรับแสตมป์ต่างประเทศที่ผนึกอัญมณีลงบนแสตมป์นั้นมีหลายชุดที่น่าสนใจ แต่ชุดที่เลือกมานี้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวาระสำคัญของราชวงศ์เช่นเดียวกับแสตมป์ของไทย ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าอัญมณีนั้นถูกนำมาใช้แทนความหมายของการเฉลิมฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์ในระยะเวลาต่างๆ ด้วยคำว่า“Jubilee” โดยจะมีคำนำหน้ากำกับตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น โดยหลักๆ แล้วจะมี 25, 50 และ 60 ปี หรือ Silver, Golden และ Diamond เป็นหลัก ในขณะที่ยังมีการเฉลิมฉลองระยะการครองราชย์ในเลขอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยเช่น Ruby Jubilee ที่แสดงถึงการครองราชย์ครบ 40 ปี และ Sapphire Jubilee อันหมายถึงการครองราชย์ครบ 65 ปี รวมไปถึง Platinum Jubilee ที่หมายความถึงการครองราชย์ครบ 70 ปี
แสตมป์เงิน-ทอง-เพชร-แพลทินัม เฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี แสดงภาพยุคต่างๆ ครบรอบในวาระ 25 ปี, 50 ปี, 60 ปี และ 70 ปี โดยแสตมป์เพชร (ครบรอบ 60 ปี) ผนึกเพชรคิวบิกเซอร์โคเนีย (Cubic Zirconia) หรืออัญมณีที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์เพื่อใช้ทดแทนเพชร
แสตมป์ชุดอัญมณี ชุด 1 ออกจำหน่ายปี พ.ศ. 2515
แสตมป์ชุดอัญมณี ชุด 2 ออกจำหน่ายปี พ.ศ. 2544
นอกจากนี้ อัญมณีหลายชนิดเคยปรากฎบนแสตมป์ไทยมาแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน ในชื่อชุดอัญมณี (ชุด 1-2) ครั้งแรกในปี พ.ศ.2515 ประกอบด้วย ทับทิม พลอยบุษร์ เพทาย พลอยน้ำสาแหรก และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2544 ประกอบด้วย เพชร เขียวส่อง ไข่มุก ไพลิน โดยต้นแบบของชุดนี้เป็นภาพที่ชนะการประกวดภาพเขียนแบบตราไปรษณียากรในงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย ประจำปี 2542 ในหัวข้อ อัญมณีไทย
แสตมป์ชุด Her Majesty Queen Elizabeth II’s 90th birthday ประเทศออสเตรเลีย, 2559
แสตมป์ชุด Diamond Dealer ประเทศบอตสวานา, 2544
แสตมป์นานาชาติที่น่าสนใจในธีมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ ชุด Her Majesty Queen Elizabeth II’s 90th birthday ประเทศออสเตรเลีย, 2559
แสตมป์เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 90 พรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นภาพพระองค์ทรงเข็มกลัด Golden Wattle และชุด Diamond Dealer ประเทศบอตสวานา, 2544 แสตมป์ปรุเป็นรูปเพชรสะท้อนถึงอุตสาหกรรมเพชรซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
แสตมป์ชุด Gems of Sri Lanka ในปี 2521
แสตมป์ชุด Gems of Sri Lanka ในปี 2558
แสตมป์ชุด Gems of Sri Lanka ในปี 2564
ส่วนประเทศศรีลังกาได้รับสมญานามว่า “เกาะแห่งอัญมณี” หรือ “รัตนทวีป” แม้จะเป็นเกาะเล็กๆ แต่กลับมีอัญมณีหลากหลายประเภท ทั้งยังคุณภาพดี ใหญ่ และไม่ตำหนิ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นำภาพอัญมณีมาทำเป็นแสตมป์หลายชุดด้วยกัน ในซีรีส์ Gems of Sri Lanka ในปี 2521, 2558 และ 2564 เป็นการรวมภาพอัญมณีหลากสีหลายชนิด และเครื่องประดับ
#อัญมณี #เครื่องประดับ #แสตมป์สื่อแห่งความรัก
คุณสามารถแสดงความคิดเห็นกับกระทู้นี้ได้ด้วยการเข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ