"ปลาไทยในแสตมป์"
เมื่อสถานการณ์แพร่กระจายของปลาหมอคางดำกำลังสร้างวิกฤติให้กับระบบนิเวศทางน้ำของไทย เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถอาศัยอยู่ในสภาพน้ำที่มีความเค็มสูงได้ และสามารถอยู่ในน้ำจืดได้เช่นกัน อีกทั้งยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับนิสัยที่ดุร้ายมักกินปลาชนิดอื่นๆในแหล่งน้ำเป็นอาหาร การเพิ่มจำนวนของปลาหมอคางดำจึง ทำให้เกิดการทำลายสัตว์น้ำในระบบนิเวศธรรมชาติ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ปลาบางชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ และทำให้เสียสมดุลระบบนิเวศใต้น้ำด้วย
สำหรับสัตว์น้ำของไทยนั้นเป็นหนึ่งใน topic ยอดฮิตที่ถูกนำมาทำเป็นแสตมป์บ่อยครั้ง โดยแสตมป์ชุดปลาไทย เป็นคอลเลกชันแสตมป์ภาพสัตว์ชุดแรกในประวัติศาสตร์แสตมป์ไทย ออกจำหน่ายเมื่อ 1 มกราคม 2510 มีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ ปลาช่อน ( 1 บาท) ปลาทู ( 2 บาท) ปลาตะเพียนขาว ( 3 บาท) และปลากัด ( 5 บาท) โดยใช้วิธีพิมพ์แบบโฟโตกราวูร์ พิมพ์ที่สำนักพิมพ์รัฐบาล กระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น โดยเกิดเป็นประเด็นดราม่าอยู่พอสมควรเนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบของแสตมป์ว่าองค์ประกอบต่างๆ ไม่สอดคล้องกลมกลืน เช่น แสตมป์ในชุดทั้ง 4 ดวงมีขนาดไม่เท่ากัน การคัดเลือกประเภทของปลาก็ปะปนกันไม่เป็นหมวดหมู่ มีทั้งปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ปลาสวยงาม การออกแบบและจัดวางองค์ประกอบในดวงแสตมป์ก็ดูไม่ค่อยลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการนำชื่อปลามาใส่ใต้ดวงแสตมป์บริเวณขอบขาวด้านนอก การออกแบบตัวอักษร ชื่อประเทศ ตัวเลขราคา และคำว่า postage ก็ไม่มีแพทเทิร์นที่สอดคล้องกันเลยในชุด
ต่อมาในปี 2511 จึงได้มีการออกแสตมป์ปลาไทย ชุด 2 เมื่อ 1 มิถุนายน 2511 โดยยังคงจัดพิมพ์ที่กระทรวงการคลัง ประเทศ ญี่ปุ่นเช่นเดิม มีทั้งหมด 8 แบบ ได้แก่ ปลาใบไม้ หรือ ปลาสลิด ( 10 สต.) ปลาทรงเครื่อง (ง 20 สต.) ปลาเวียน ( 25 สต. ) ปลาเทพา ( 50 สต.) ปลากดหิน (80 สต.) ปลาบู่ (1.25 บาท) ปลากะโห้ ( 1.50 บาท) และปลากราย ( 4 บาท) โดยเสียงตอบรับจากชุดนี้ค่อนข้างดี และมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ จนมีข่าวในขณะนั้นว่ามีพ่อค้ากักตุนแสตมป์บางชนิดราคาไว้เพื่อเก็งกำไรกันเลยทีเดียว
หลังจากนั้น 10 ปี จึงได้มีการออกแสตมป์ปลาไทย ชุด 3 เมื่อ 13 เมษายน 2521 มี 4 แบบ ได้แก่ ปลาหมอไทย(ราคาหน้าดวง 1 บาท ) ปลาเสือตอ (ราคาหน้าดวง 2 บาท) ปลาเนื้ออ่อน (ราคาหน้าดวง 3 บาท) ปลายี่สก (ราคาหน้าดวง 4 บาท ) โดยชุดนี้ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ โจ เอ็นเชเด้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นการปิดคอลเลกชันปลาไทยอย่างสมบูรณ์
นอกจากแสตมป์ชุดปลาไทยแล้ว ก็ยังมีแสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะชุดที่เกี่ยวกับปลาทะเลซึ่งโดดเด่นด้วยสีสันที่สวยงาม ได้แก่ ชุดชีวิตใต้ทะเล ภาพธรรมชาติใต้ทะเลไทยประกอบไปด้วยปลาทะเลชนิดต่างๆ ในรูปแบบแสตมป์จิกซอว์ ในแผ่นมีแสตมป์ด้วยกัน 9 ดวง (ราคา 3 บาท 6 แบบ / ราคา6 บาท 2 แบบ) ออกจำหน่ายเมื่อ 15 มีนาคม 2544
ชุดปลาการ์ตูน ออกจำหน่าย 24 มิถุนายน 2549 มีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาการ์ตูนอานม้า ราคาดวงละ 3 บาท
ปลากัด ก็เป็นหนึ่งในชนิดปลาที่นิยมนำมาทำแสตมป์เช่นกัน เนื่องจากมีความโดดเด่นของสีสันและลวดลายบนตัวปลา และยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยจัดพิมพ์มาแล้ว 2 ชุด ได้แก่ ชุดปลากัด ออกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2545 มีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ ปลากัดใต้ (ราคาหน้าดวง 3 บาท) ปลากัดไทยหางสั้น ( 3 บาท) ปลากัดไทยหางมงกุฎ ( 4 บาท ) ปลากัดไทยหางยาวแฟนซี ( 15 บาท)
และชุดสัตว์น้ำประจำชาติออกเมื่อ 21 กันยายน 2563 ภาพปลากัดสีธงชาติ ปลากัดหูช้างสีทองหางยาว ปลากัดหางใบโพธิ์สีทอง และปลากัดหางมงกุฎสีธงชาติ ราคาดวงละ 5 บาท
คุณสามารถแสดงความคิดเห็นกับกระทู้นี้ได้ด้วยการเข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ