ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง ถือเป็นประเพณีสำคัญของไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยจะมีการจัดขึ้นทุกปี ในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียน ใส่ลงในกระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและขอขมาต่อพระแม่คงคา ผู้ปกปักรักษาสายน้ำ
ตามบันทึกความเป็นมา เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย จึงเชื่อกันว่างานดังกล่าวเป็นงานลอยกระทง และได้ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วง รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" สมัยรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบันที่ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย
ประเพณีลอยกระทงของไทยตามภูมิภาคต่างๆ มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ล่ะท้องถิ่น เช่น จังหวัด สุโขทัยมีการเผาเทียนเล่นไฟเพื่อให้คำคืนวันเพ็ญดูสว่างไสวยิ่งขึ้น จังหวัดนครพนม จัดให้มีการไหลเรือไฟ “เฮือไฟ” ริมโขงตามแบบท้องถิ่นแบบชาวอีสาน ในขณะที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีการจุดโคมประทีป หรือ “ยี่เป็ง” แล้วปล่อยให้ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าแทนการลอยกระทงตามสายน้ำ ส่วนจังหวัดตาก เป็นการลอยกระทงสาย ที่ทำจากกะลามะพร้าวแทนกระทงทั่วไป
คุณสามารถแสดงความคิดเห็นกับกระทู้นี้ได้ด้วยการเข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ